กลยุทธ์ผูกมัดลูกค้าให้ติดหมัด ตอนที่ 1

กลยุทธ์ผูกมัดลูกค้าให้ติดหมัด ตอนที่ 1


        

         
  ปกติลูกค้าจะมีการเปลี่ยนทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือเปลี่ยนใจไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นธรรมชาติของลูกค้า โดยเฉพาะเมื่อลูกค้าได้รับข้อเสนอที่ดีกว่า เช่น ราคาถูกกว่า โปรโมชั่นดีกว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่กว่า แต่ทำไมลูกค้ายังเปลี่ยนใจไปใช้ยี่ห้อหรือผลิตภัณฑ์อื่น พบว่าทุกครั้งที่ลูกค้าเปลี่ยนยี่ห้อไปใช้ของคู่แข่งเรา ลูกค้าจะมีต้นทุนของการเปลี่ยน เรียกต้นทุนการเปลี่ยนใจหรือ Switching Cost เช่น ลูกค้าเปลี่ยนใจลูกค้าจะมีต้นทุนดังนี้ 

1. ต้นทุนการซื้อของใหม่ เช่นต้นทุนการหาเวลาที่สูญเสียไป ดังนั้น เราพบว่า ลูกค้ามักทานข้าวใกล้ๆ บ้านหรือที่ทำงานมากกว่า และลูกค้าร้านอาหารมักอยู่ในรัศมี 5-10 กิโลเมตร ห้างพบว่าลูกค้ามักอยู่ในรัศมี 10-20 กิโลเมตร เพราะอะไร เพราะว่าลูกค้าไม่ต้องการเดินทางไกลๆ รถติด ยกเว้นว่าที่นั้นมีอะไรพิเศษ เช่นมีของราคาถูก มีสินค้านวัตกรรมที่ห้างอื่นๆ ไม่มี หรือร้านอาหารนั้นมีรสชาติแบบมังกรคู่สู้สิบทิศ มีอาหารรายการพิเศษ เปิปพิสดาร เช่นเดียวกันกับร้านขายหนังสือ ร้านกาแฟ ร้านค้าซื้อสะดวก โชว์ห่วย ลูกค้ามักอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ หรือทางเสือผ่านประจำจนคุ้นเคย หากคุณจะทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจ คุณต้องให้ข้อเสนอที่สูงกว่าต้นทุนตัวนี้ Switching Cost จน ลูกค้าช่างใจว่าคุ้มค่า เช่น ธนาคารหากต้องการให้ลูกค้าเปลี่ยนกู้เงินจากธนาคารอื่นมาใช้ธนาคารตนเองก็ต้องให้ข้อเสนอดอกเบี้ยที่ถูกกว่ามากที่คุ้มค่า อัตราต่างกันของดอกเบี้ยนั้นมากพอที่จะคุ้มค่าเงิน ปรับจากการย้ายบัญชีเงินกู้

2. ต้นทุนการเรียนรู้ใหม่ หากลูกค้าเปลี่ยนยี่ห้อหรือผลิตภัณฑ์แล้วต้องมาเรียนรู้ใหม่ ซึ่งทุกคนไม่อยากเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ เช่น ตอนเราเปลี่ยนมือถือ หรือเปลี่ยนกล้องฟิล์มเป็นกล้องดิจิทัล เปลี่ยนระบบซอฟแวร์คอมพิวเตอร์จาก วินโดว์เอ็กซ์พี เป็น วิสต้า หากลูกค้าเรียนรู้กับผลิตภัณฑ์และการติดต่อกับระบบงานเราจนคุ้นแล้ว ลูกค้าย่อมไม่อยากเปลี่ยน เช่น เดอร์เบียร์ เพชรเบอร์หนึ่งของโลก ให้ความรู้สอนระบบ การดูเพชร จัดเกรดเพชร หรือปูนซีเมนต์ไทยสอนลูกค้าให้พิจารณาเลือกวัสดุก่อสร้างอย่างไร หรือกล้องดิจิทัลยี่ห้อ ก. สอนการใช้งานให้กลุ่มตลาดเป้าหมายแต่ใช้กล้องยี่ห้อตนเองเป็นแบบแน่นอนเมื่อลูกค้าคิดอยากจะซื้อกล้องก็คงไม่พ้นยี่ห้อ ก. เพราะมีความคุ้นเคย สินค้าหลายตัวเข้าไปสอนนักศึกษา โดยเอาเครื่องตนเองเข้าไปประกอบการเรียนการสอน หรือขายให้สถาบันการศึกษาในราคาถูกเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้เด็กนักเรียน เช่นเครื่องแทนงานพิมพ์ คอมพิวเตอร์ ระบบซอฟแวร์

3. การให้รางวัลลูกค้า เช่นสะสมยอดซื้อ เช่น สายการบินมีรายการสะสมไมล์ ห้างสะสมยอดซื้อในรูปคะแนน บัตรเครดิตสะสมแต้ม หรือ เครื่องสำอางสะสมยอดซื้อเพื่อแลกของกำนัล บางรายก็ใช้วิธีสะสมแสตมป์ เช่น ร้านเย็นตาโฟ หรือเกมที่มีการสะสมคะแนนในเกมทำให้ผู้เล่นเสียดาย คะแนนในการอัพเกรด หากอยู่ใน Level สูงแล้ว ทำให้ ผู้เล่นไม่อยากเปลี่ยนไปเล่นเกมอื่นๆ


ตอนนี้ได้ 3 ข้อ ก่อนไว้ต่อกันฉบับหน้าครับ ว่าเรามีทางผูกมัดใจลูกค้าได้อย่างไรบ้าง หากเราเพิ่มต้นทุนลูกค้าในการเปลี่ยนใจไปใช้ยี่ห้อคู่แข่ง ให้สูงเข้าไว้ ลูกค้าก็ไม่ยากเปลี่ยน เพราะไม่อยากเริ่มต้นใหม่ หรือไม่คุ้ม


Credit : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
 898
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์